Thai / English

ธนาคารแรงงาน ฉบับ "ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" โมเดลช่วยชาติกับกระแสต้านที่เริ่มก่อตัว


ดำรงพันธ์ ใจห้าว
13 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

ทันทีที่มีเสียงประกาศจากรัฐบาลว่าจะดึงเงินประกันสังคมที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท ส่วนใดส่วนหนึ่งมาปล่อยกู้ให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบที่มีอยู่กว่า 38 ล้านคนทั่วประเทศ โดยนำข้อเสนอของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งธนาคารแรงงาน

แต่หลักใหญ่ใจความนั้น รัฐบาลตั้งใจที่จะดำเนินการมาตรการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวลงอย่างหนักในขณะนี้ แทนที่จะมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานโดยตรง ย่อมที่จะมีกระแสตอบรับที่ไม่พึงประสงค์บ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำแรงงานที่มีเครือข่ายค่อนข้างแน่นแฟ้นอย่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งมีน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นประธาน เรื่องนี้ น.ส.วิไลวรรณ ให้ความเห็นว่าไม่เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่แรงงานเรียกร้องหลายอย่างในวันแรงงานที่ผ่านมา เช่น ความมั่นคงในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น นั่นเป็นปัญหาอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ ทำไมไม่เร่งดำเนินการ กลับไปคิดเร่งนำเงินจาก สปส.ไปจัดตั้งธนาคารลูกจ้าง

เรื่องนี้มองได้หลายอย่างว่า รัฐบาลมีเบื้องหลังหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลกำลังถังแตก ไม่รู้จะหาเงินส่วนไหนไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่พยายามดึงจากธนาคารเฉพาะกิจหลายแห่ง เช่น ธอส. ธ.ก.ส. แล้วก็ยังไม่ได้ผล แล้วหันมาเอาเงินสปส.ที่เป็นเงินจากหยาดเหงื่อแรงงาน เป็นเงื่อนไขสร้างภาพให้ดูดีว่าทำเพื่อคนงาน เรื่องนี้คนงานยังตอบไม่ได้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะต้องการให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระมากกว่า เกรงว่าจะทำให้กองทุนเสียหาย เห็นได้จากกรณีนี้รัฐเข้าไปล้วงลูก อาจสร้างความไม่โปร่งใสต่อการบริหารงานได้

“อย่าคิดว่าตัวเองมาจากการรัฐประหารแล้วจะมารวบยอดเบ็ดเสร็จ เพื่อใช้วิธีการเดียวกันกับวันที่ 19 กันยายน 2549 มาบริหาร สปส. ทำแบบนี้คนงานไม่มีส่วนร่วมเลย ถ้าใช้วิธีการอย่างนี้ บอกเลยว่ารัฐบาลคิดผิดคนงาน 9 ล้านคนไม่ยอมแน่นอน ลองทำโดยไม่ปรึกษาคนงานดูซิ จะยกพลไปบุกถึงทำเนียบเลย"

หรือแม้แต่หน่วยงานที่บริหารเงินจำนวนนี้อยู่ คือ สปส.ก็ยังละล้าละลังที่จะดำเนินการ โดยระบุว่า เอาเงินไปฝากไว้กับธนาคารแล้วให้แรงงานกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้นพอไหว แต่จะให้ไปจัดตั้งธนาคารเลยนั้นไม่ไหวแน่ เพราะการจัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจนั้น ต้องมีองค์ประกอบมากทั้งเงินปล่อยกู้ บุคลากร ระบบในการจัดการ การคิดอัตราดอกเบี้ย การจัดเก็บ และไม่แน่ใจว่าเมื่อตั้งมาแล้วคนงานจะได้รับประโยชน์เต็มที่หรือเปล่า เพราะการปล่อยกู้นั้นก็ต้องตรวจสอบประวัติครอบครัว ภาวะทางการเงิน หลายอย่าง เชื่อว่าคนงานหลายคนจะไม่ผ่าน และจากการคิดคร่าวๆ จัดตั้งธนาคารนี้ สปส.ต้องขาดทุนปีละ 200-300 ล้านบาท

ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เจ้าของโมเดลชิ้นนี้ อธิบายว่า การจัดตั้งธนาคารแรงงานนี้เป็นการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงและทุนมวลชน โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาทในปัจจุบัน การดำเนินการนั้น 1.ต้องออกพ.ร.บ.ใหม่ โดยให้กองทุนเป็นองค์กรอิสระไม่ใช่บริหารด้วยระบบราชการ มีฝ่ายการเมืองกำหนดทิศทาง 2.ให้นำเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ไปฝากในธนาคารพาณิชย์แห่งใดก็ได้ จ้างให้เขาบริหารจัดการ โดยให้ส่วนแบ่งจาก 7% ไป 2% ส่วนที่เหลือเป็นผลกำไรให้สปส. ซึ่งอาจจะนำร่องในธนาคารที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐก่อนก็ได้ จัดโครงการเงินกู้ ให้คนงานที่เป็นผู้ประกันตนกู้ไปรายละไม่เกิน 10,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 7% และให้ชำระคืนภายใน 2 ปี

3. ต้องมีเงื่อนไขให้คนที่กู้ไปแล้วนั้นหักเงินส่วนหนึ่งไว้ 10% จากเงินที่กู้ได้ เพื่อสมทบทุนสร้างธนาคารแรงงาน โดยที่คนงาน 9 ล้านคนถ้านำเงินออมคนละ 5% จะได้เงินมากกว่า 4,500 ล้านบาท หรือคนละ 10% จะได้เงิน 9,000 ล้านบาทจัดตั้งธนาคารได้สบาย 4.ธนาคารนี้ลูกจ้างเป็นเจ้าของ กำหนดทิศทาง นโยบายการบริหารดำเนินการด้วยตนเอง

5.ลูกจ้างทุกคนสามารถกู้เงินจากธนาคารแรงงานได้ เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อประกอบกิจการส่วนตัว หรือเพื่อบำรุงครอบครัวได้ 6.ธนาคารนี้สามารถปล่อยกู้ในลักษณะเช่นเดียวกันการปล่อยกู้เพื่อจัดตั้งธนาคารแรงงาน นำไปสู่การจัดสร้างเศรษฐกิจอย่างอื่น เช่น สร้างห้างสรรพสินค้าของผู้ใช้แรงงาน โรงแรม เป็นต้น

การดำเนินการลักษณะเช่นนี้ จะก่อให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระจายรายได้ให้กับกลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มากที่สุดในประเทศ สร้างระบบสวัสดิการ ความมั่นคงในอาชีพการงาน สร้างอาชีพแก่ลูกจ้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังลดภาระของนายจ้างได้ด้วย เพราะนายจ้างก็สามารถมากู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้เหมือนกัน ในกรณีการสร้างที่พักคนงาน กู้เพื่อฝึกฝีมือแรงงาน เป็นต้น

“อย่าเข้าใจผิด ธนาคารแรงงาน เป็นแนวคิดสำหรับช่วยชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เอาเงิน สปส.ไปจัดตั้งเลย ธนาคารลูกจ้าง ไม่ใช่ธนาคารกองทุนประกันสังคม เพียงนำเงินที่ลูกจ้างฝากไว้ในกองทุน ไปให้คนงานกู้แล้วหักไว้ 10% เพื่อจัดตั้งธนาคารเท่านั้น แทนที่จะเอาไปให้นายทุน คนรวยกู้อย่างเดียวอย่างที่ทำอยู่ คนจนก็น่าจะมีสิทธิใช้เงินของตัวเองบ้าง แล้วธนาคารนั้นก็คนงานเป็นเจ้าของจะทำอะไรก็ได้ในอนาคต"

"ทั้งนี้ ลักษณะทุนที่มีลูกจ้างแรงงานจำนวนมากเป็นเจ้าของนั้น เป็นทุนภายในที่จะปกป้องทุนของประเทศ ต่อสู้กับทุนต่างชาติ ไม่ให้มาครอบงำ เอาเปรียบได้” รศ.ดร.ณรงค์ ย้ำ