การอภิปรายในหัวข้อ "ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อสิทธิแรงงาน" เห็นภาพสะท้อนปัญหาแรงงานมากขึ้นอย่างน้อยๆ ก็ชี้ชัดว่าแนวโน้มจากนี้จะมีการปลดคนงานมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หัวทิ่ม แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานกำลังอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ไม่มีอำนาจต่อรอง ผลจากการลดรายได้ ลดค่าโอที ค่าเบี้ยขยัน ฯลฯ อีกทั้งข่าวการเลิกจ้างรายวัน ที่มีการคาดการณ์ตัวเลขที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็มีส่วนในการทำลายอำนาจการต่อรองของแรงงาน นอกจากนี้ ทำให้นายจ้างจำนวนมากถือโอกาสจ่ายเพียงเงินเดือนตามเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น เพื่อบีบให้แรงงานลาออกเอง ซึ่งถือว่าได้ผล เพราะมีแรงงานจำนวนหนึ่งยื่นความจำนงที่จะลาออกด้วยความสมัครใจเพราะทนแบกรับหนี้สินและรายจ่ายไม่ไหว "ขณะนี้สหภาพแรงงานกำลังเกิดปัญหาที่น่าหนักใจ เพราะสมาชิกเรียกร้องกับนายจ้าง ยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้างให้เลิกจ้างตัวเอง จากข้อมูลของคุณยงยุทธ เม่นตะเภา (ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์) เป็นตัวอย่างที่คลาสสิก ระบุว่า เมื่อนายจ้างเลิกโอที หยุดพักการผลิตชั่วคราว ตามมาตรา 75 ลูกจ้างอยู่ไม่ได้ นั่นแปลว่าการอยู่ไม่ได้เป็นอำนาจของลูกจ้าง วันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างประทังชีพ มันไม่พอ ถือเป็นเรื่องน่าอนาถ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแต่ว่าเป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว" อาจารย์แล ระบุ อาจารย์แล ระบุด้วยว่า การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปในเชิงรุกมากกว่าในปัจจุบัน ต้องทำให้การเลิกจ้างของผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำได้โดยการเรียกร้องเงินชดเชยการเลิกจ้าง ให้มากกว่ากฎหมายเดิมที่กำหนดไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ก็ไม่ทำในกรณีดังกล่าว เมื่อดูจากสถิติการเลิกจ้างในกลุ่มยานยนต์ที่ผ่านมาก็ได้พบข้อมูลว่าไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านจากแรงงานซับคอนแทรกต์ ส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งที่สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ระบุชัดในเรื่องสิทธิการมีงานทำไว้ชัดเจน วันนี้ลูกจ้างจึงมีมายาคติที่ล้างไม่ออก ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งขัดขวางต่อการรวมตัวและเรียกร้องความเป็นธรรม เช่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นแรงงานมีความเชื่อถือว่าสามารถเลิกจ้างตัวเองได้ ก่อนการลดต้นทุนส่วนอื่น ๆ ที่นายจ้างยังไม่ได้ทำ หรือกรณีปัญหาของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 แยกสหภาพแรงงานไม่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ก็ยังไม่มีการกระตุ้นให้มีการแก้ไขจนถึงวันนี้ ด้าน ยงยุทธ เม่นตะเภา กล่าวว่าตัวเลขการว่างงานกลุ่มยานยนต์นั้น ควรมีการวิจัยคนงานในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์มีจำนวนกว่า 5 แสนคน ไม่ใช่จำนวน 3.5 แสนคน ตามที่เคยปรากฎข้อมูลจากผู้ประกอการ โดยเท่าที่รวบรวม พบว่าจำนวนบริษัทยานยนต์ทั้ง 5 บริษัท จาก 19 โรงงานมีผู้ที่อยู่ในโรงงานประกอบรถยนต์ 5 หมื่นคน ตัวแทนจำหน่ายศูนย์บริการ 2 แสนคน ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประมาณ 386 บริษัท ชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 122 บริษัท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ 201 บริษัท และยังมีกลุ่มอื่น ๆในยานยนต์อีก "ประเทศไทยควรมีการทบทวนการทำวิจัยได้แล้วว่าตัวเลขขั้นต่ำ ขั้นพื้นฐานที่เป็นรายได้ที่แรงงานควรจะได้รับเป็นจำนวนเท่าไหร่จึงจะอยู่กันได้ ยงยุทธ กล่าว วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานและคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ปัญหาการดำเนินงานสหภาพแรงงานมีมาตลอดและช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี้ อาจเป็นได้ทั้งโอกาสและวิกฤตในอนาคตในการเจรจาและสิทธิการต่อรอง เมื่อสหภาพแรงงานมีการเรียกร้องข้อต่อรองนายจ้างก็มักจะไล่ออก และใช้วิธีการจ่ายข้อชดเชย ให้แทน ดังนั้นกฏหมายควรมีการระบุให้การรวมตัวเพื่อต่อรองของแรงงานจะได้รับสิทธิและมีการคุ้มครองด้วย ด้าน รูดี้ พอร์เตอร์ ผอ.โครงการประจำประเทศไทยศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (โซริดาริตี้ เซ็นเตอร์)กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิของสหภาพแรงงานไทยยังอ่อนแอในหลายด้านทั้งเรื่องการรวมตัวและกฎหมายที่ไม่รองรับให้นายจ้างได้รับการลงโทษ เมื่อมีการละเมิดกฎหมายแรงงาน แต่ก็ยอมรับว่ายังมีนายจ้างชาวต่างชาติหลายคนที่ไม่ยอมเจรจาต่อรองกับลูกจ้างไทยในกรณีเกิดข้อพิพาทขึ้น "สหภาพแรงงานไทยไม่ควรจะยอมให้การเลิอกปฎิบัติอย่างนี้ขึ้น แต่ควรทำให้แรงงานเข้มแข็งและเรียกร้องกับนายจ้างได้" รูดี้ ระบุ
|