เมื่อเห็นว่าประเด็นเรื่องการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเขตมักกะสันกำลังได้รับความสนใจ นักเรียนกลุ่มนี้จึงตกลงในห้องเรียนเพื่อออกมาศึกษาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
นักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ จากเขตบางขุนเทียน เดินทางมาฟังเรื่องเล่าของมักกะสันในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ริมถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี ห้องเรียนวันนี้มีครูเป็นพี่ ป้า น้า อา ซึ่งมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ แรงงาน การพัฒนา และผังเมือง แม้จะไม่มีความรู้เรื่องมักกะสันมาก่อน แต่เมื่อได้ฟังข้อมูลที่หาไม่ได้ในห้องเรียนรวมทั้งโลกอินเทอร์เน็ต
“รพีพร มโนรัตน์” นักเรียนชั้น ม. 6 ก็เห็นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมักกะสันควรตัดสินใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“สิ่งที่เห็นจากที่มาวันนี้คือ ที่นี่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยเรื่องราวและความผูกพันของผู้คน ดังนั้นก็เหมือนทุกๆ ที่ที่เมื่อมีคนมาอยู่รวมกันแล้วก็จะเกิดเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมา พูดง่ายก็คือเป็นเหมือนบ้าน เพราะฉะนั้นก็ไม่อยากให้ใครทำลายบ้านหลังนี้ไป” รพีพร มโนรัตน์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนรุ่งอรุณ บอกกับเรา
ขณะที่เปรมปรีติ หาญทนงค์ ครูโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็บอกกับเราว่า “การมาครั้งนี้ทำให้ได้ประเด็นที่จะไปศึกษาต่อ คือตอนที่มาเราไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรมาก แค่มาทำความรู้จักกรุงเทพฯ มุมนั้นมุมนี้ แต่พอมาได้ฟังเรื่องราวจริงๆ จะพบว่า การสร้างมักกะสันคอมเพล็กซ์นั้นเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ แรงงาน รถไฟ สหภาพ คือก็รู้มาก่อนว่าจะมีการสร้าง แต่ไม่คิดว่าจะสร้างใหญ่ขนาดนี้ และไม่คิดว่าจะมีคนเกี่ยวข้องมากมายขนาดนี้”เด็กๆ ศึกษาเรื่องเล่าของมักกะสันในวันวาน ส่วนผู้ใหญ่ก็ถกกันถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม พูดกับเราว่า “การมาพบกันครั้งนี้เพื่อช่วยกันมองจากมุมของแต่ละคนเหมือนกับช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ความคิด ว่าคนข้างในมองเห็นมักกะสันอย่างไร ซึ่งคนข้างนอกมองไม่เห็น ส่วนคนข้างนอกเองมองเห็นมักกะสันอย่างไร คือบางทีเราก็มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเหมือนมองไม่เห็นปลายจมูกของตัวเอง
ดังนั้นถ้าหากในชุมชนได้มาเจอกันกับกลุ่มต่างๆ ทั้ง 5 ชุมชน 10 ชุมชนรอบมักกะสัน มามองร่วมกับกลุ่มสถาปนิก รถไฟ แรงงาน มองว่าคุณค่าของมักกะสันคืออะไร เราก็จะเห็นภาพต่อของมักกะสัน เห็นเรื่องราวของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต”
อีกคนหนึ่งที่เข้ามาร่วมพูดคุยก็คือ สุนี ไชยรส รองประธาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีความเห็นที่น่าสนใจเช่นกัน
“มีกลุ่มอนุรักษ์มากมายที่ยินดีมาช่วยกัน ถ้าการรถไฟ กรุงเทพมหานคร หรือแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาล เปิดใจกว้างมากพอ แล้วก็หาทางออกร่วมกัน มันน่าจะมีความเป็นไปได้สูง
แต่ว่าคนก็ยังไม่เห็นด้วยนะ กับการที่จะใช้พื่นที่เต็มรูปแบบเพื่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ลองมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้การรถไฟก็ไม่เสียประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ทำให้กลุ่มต่างๆ นั้นสามารถเดินต่อด้วยกันได้ เพราะพื้นที่แบบนี้ของกรุงเทพมหานครนั้นเหลือน้อยแล้ว” สุนี บอกกับเราอย่างนั้น
เมื่อมักกะสันไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ชีวิตของคนในมักกะสันเท่านั้น ในวันที่ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับอนาคตของมักกะสันร่วมกัน ที่นี่จึงเปรียบเสมือนความฝันร่วม ที่ทุกคนพร้อมจะช่วยกันแต่งแต้มให้เป็นความจริง