รายการบ้านฉันวันนี้ : มักกะสันวานนี้
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2481 ที่กรมรถไฟตั้งโรงงานมักกะสันเป็นโรงซ่อมหัวรถจักร ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 75 ปี แล้วที่การเกิดขึ้นของโรงซ่อมรถไฟทำให้คนจากหลากที่หลายทางต่างย้ายมาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ผูกพันกับมักกะสันอย่างยาวนาน คน ราง รถไฟ แรงงาน สีสันของส่วนผสมแห่งมักกะสัน ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง เราร่วมสำรวจพื้นที่เล็กๆ ใจกลางกรุงเทพมหานคร กับ “คุณวาสนา ลำดี” จากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งตั้งอยู่ในมักกะสันแห่งนี้ “โรงงานซ่อมหัวรถจักร เวลาที่เสียก็จะส่งมาซ่อมที่นี่ มาจากทั่วประเทศ และที่นี่เองที่บอกว่าจะมีการย้ายไปอยู่แถวๆ โคราช ก็จะไปสร้างชุมชนใหม่ที่โน่น แล้วก็สร้างโรงงานซ่อมหัวรถจักรใหม่ที่โน่น เกิดชุมชนใหม่ที่โน่นก็คล้ายกับที่นี่ มีการสร้างบ้านพัก เพียงแต่ว่า สำหรับที่นี่สิ่งที่น่าอนุรักษ์เพราะมีเรื่องราวของการเรียกร้องสวัสดิการ การเริ่มต้นของระบบอุตสาหกรรมของประเทศเริ่มต้นที่นี่” การรวมกลุ่มของคนงานรถไฟเพื่อเรียกร้องสวัสดิการ สิทธิแรงงานเมื่อครั้งอดีตที่คุณวาสนา เล่าให้ฟังนั้น ได้นำมาสู่การออกกฎหมายหลายฉบับที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านพักคนงาน โรงพยาบาล รวมถึงวันหยุดประจำปี ที่นี่จึงมีความหมายต่อประวัติศาสตร์แรงงานด้วย การเกิดขึ้นของโรงงานมักกะสัน ได้นำพาคนย้ายมาอยู่ริมรางม้าเหล็กมากมาย เช่นคุณยายทองจันทร์ คำแก้ว ชาวร้อยเอ็ด ที่ย้ายมาอยู่มักกะสันมากกว่า 30 ปีแล้ว “ตอนยายมาอยู่มันยังเป็นป่าอยู่เลย เพิ่งมีตึกขึ้นตึกเดียวเอง พอจะมีการย้ายก็เสียดายนะ เห็นว่าจะย้ายไปปากช่องกันก็ยังไม่รู้อะไรมาก” ยายทองจันทร์บอกกับเราอย่างนั้น ระยะทางระหว่างที่พักกับโรงงานไม่ไกลนัก พาหนะหลักในการเดินทางจึงเป็นจักรยาน แม้จะมาจากต่างที่ต่างถิ่น แต่รอยยิ้มที่มีให้กัน แสดงถึงความผูกพันที่หลอมรวมกลายเป็นครอบครัว นี่คือสีสันในมุมเล็กๆ ใจกลางเมืองหลวงที่เราได้เดินสำรวจ ในวันที่ลมหายใจแห่งมักกะสันกำลังอยู่บนความไม่แน่นอน การได้ฟังเรื่องเล่าเท้าความสู่วันวาน แม้เพียงครู่เดียวก็มีคุณค่าต่อบันทึกความทรงจำ |