ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึก Rana Plaza ถล่มทะลุหลักพันไปแล้ว นี่คือโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ภาพสะท้อนความปลอดภัยการทำงานในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังคลาเทศที่ใช้ “แรงงานราคาถูก” เป็นจุดเด่น ซึ่งในด้านหนึ่งเกิดคำถามที่ว่ามันคุ้มหรือกับชีวิตคนงานที่สูญเสียไปหรือไม่
ที่มาภาพ: wikipedia.org 13 พ.ค. 56 - ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ความได้เปรียบด้านค่าแรงยังคงมีภาพ "แย่ๆ" ให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ต้นเหตุก็อาจจะเป็นอย่างคำกล่าวของโป้ปองค์ใหม่ที่ว่า "สถานะของคนงานที่เสียชีวิตในบังคลาเทศก็เปรียบดั่งแรงงานทาสที่ได้ค่าแรงอย่างไม่ยุติธรรม ไม่มีงานทำ เพราะผู้จ้างเอาแต่จ้องตัวเลขงบดุล จ้องหาแต่ผลกำไร" ที่บังคลาเทศในวันแรงงาน (1 พ.ค. 56) คนงาน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปกว่า 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วงในกรุงธากา และเมืองอื่นๆ เรียกร้องให้เอาผิดเจ้าของโรงงานในตึก Rana Plaza รวมทั้งให้มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานในประเทศซึ่งมีข่าวโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับคนงานบ่อยเหลือเกิน ตึก Rana Plaza ที่มีความสูงกว่า 8 ชั้นได้ถล่มลงเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากมาย (ณ วันที่ 13 พ.ค. 56 นี้มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งไปกว่า 1,127 รายไปแล้ว) โดยสินค้าที่ผลิตในโรงงานที่เบียดเสียอยู่ในตึก Rana Plaza มีความเชื่อมโยงกับแบรนด์เสื้อผ้าและธุรกิจค้าปลีกระดับโลกอย่าง Benetton Group, Bonmarché, Cato, DressBarn, Joe Fresh, Mango, Matalan, Monsoon, Primark และ The Children's Place (TCP) รวมทั้ง Walmart อีกด้วย ทั้งนี้การประท้วงในวันแรงงานที่บังคลาเทศพบว่าผู้ประท้วงบางรายถึงกับเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าของตึก Rana Plaza และเจ้าของโรงงานเลยทีเดียว เพราะมีข่าวบางกระแสรายงานว่านายจ้างได้บังคับลูกจ้างให้ทำงาน แม้ถูกเตือนว่าพบรอยร้าวที่เป็นอันตรายต่ออาคารมาก่อนหน้านี้ ในด้านกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีนี้ ศาลสูงบังคลาเทศมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์เจ้าของตึก Rana Plaza และสั่งให้อายัดทรัพย์สินของเหล่าเจ้าของโรงงานต่างๆ เพื่อนำเงินไปจ่ายเป็นค่าแรงและค่าชดเชยแก่คนงาน รวมทั้งเงินชดเชยเบื้องต้นจากสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอบังคลาเทศ (Bangladesh Garment Manufacturers and Exporters Association - BGMEA) ที่ประกาศจะชดเชยให้กับคนงานนั้นมีน้อยนิดคือแค่ 6,000 ธากา (ประมาณ 77 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ทว่าคนงานที่บาดเจ็บและต้องว่างงานก็ไม่พอใจจำนวนเงินชดเชยน้อยนิดที่ได้รับนี้ โดยระบุว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรักษาอาการบาดเจ็บและการว่างงานไม่มีรายได้ โดยคนงานผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ระบุว่าพวกเขาทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงด้วยซ้ำ แต่ BGMEA ยืนยันว่าเงินชดเชยจำนวนนี้เป็นการจ่ายตามมาตรฐานของกฎหมายแรงงานแล้ว บังคลาเทศเป็นประเทศยากจน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 305.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี GDP รายหัว (GDP per Capita) 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2012) จุดเด่นของประเทศก็คือการที่มีค่าแรงราคาถูกจากประชากรจำนวนมหาศาลกว่า 163 ล้านคน ทั้งนี้ภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของบังคลาเทศทำรายได้เข้าสู่ประเทศถึงประมาณ 20 พันดอลลาร์สหรัฐต่อปี และคู่ค้าที่สำคัญคืออเมริกาและยุโรป อนึ่งที่บังคลาเทศเกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้อยู่เนืองๆ โดยเมื่อปลายปี 2012 ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตเสื้อTazreen Fashion ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 117 คน โดยเหตุการณ์นั้น พึ่งได้กระแซะต่อมความรับผิดชอบให้แบรนด์เสื้อผ้าและบริษัทค้าปลีกระดับโลก ให้มาตระหนักถึงสภาพการทำงานของคนงานภาคสิ่งทอในบังคลาเทศที่มีค่าแรงต่ำมาก เพียง 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น
ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Rana_Plaza http://en.wikipedia.org/wiki/2012_Dhaka_fire http://newsinfo.inquirer.net/403885/bangladesh-garment-accident-death-toll-passes-700 |