จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่าในปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย 2,700,000 - 3,500,000 คน เป็นผู้ที่พำนักอาศัยและทำงานประมาณ 3,140,000 คน ขณะที่แรงงานที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ณ เดือนกันยายน 2555 มี 1,160,000 คน ในส่วนของแรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตคาดว่ามีประมาณ 2,000,000 คน หรือ 65%
การให้ความสำคัญแก่แรงงานข้ามชาติโดยผู้ประกอบการณ์ เริ่มมีภาพชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2554, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 40% ทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 และ การประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องมาที่ความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
ปรากฏการณ์ความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมถูกตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อล่าสุด (เดือนพฤศจิกายน 2555) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศที่จะ ทบทวนมาตรการผ่อนผันที่อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะหมดอายุลงในปลายเดือนธันวาคม 2555 นี้ เนื่องจากการร้องขอของผู้ประกอบการ
ในรายงานชิ้นนี้ขอนำเสนอการจ้างงานแรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด จ.ตาก ด่านหน้าด่านแรกๆ ของแรงงานพม่ากับการเข้ามาทงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย
แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมที่ อ.แม่สอด
ในปี 2550 หลังการรัฐประหาร 2549 ได้หนึ่งปี ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่าสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด นั้นจัดอยู่ในสภาพที่เลวร้ายเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยความ “เข้มงวด” ที่อาศัยกรอบของเรื่อง “ความมั่นคง” ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในขณะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยในขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อเรื่องการจ้างงาน สภาพความเป็นอยู่ และสิทธิของแรงงานเป็นอย่างมาก
ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจชีวิตและสภาพการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติที่ อ.แม่สอด ปัญหาเรื่องความ “เข้มงวด” ตามกรอบของเรื่อง “ความมั่นคง” นั้นหายลงไปอย่างมาก ตามสภาวะที่ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่พัฒนาไปตามเรื่องของเศรษฐกิจ (ถึงแม้จะไม่ดีมากนัก แต่มีแนวโน้มดีกว่าเดิม) และพบว่าความกังวลใจของผู้ประกอบการในการใช้แรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด กลายเป็นเรื่อง “การขาดแคลนแรงงาน” มากกว่าเรื่อง “ภัยความมั่นคง” ไปเสียแล้ว
โดยก่อนหน้านั้น ในเดือนกรกฎาคม 2555 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่าสถานการณ์ในแถบพื้นที่ อ.แม่สอด ภายหลังจากการเริ่มนโยบายการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัดและ 40% ทั่วประเทศ และนโยบายการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย ให้มีการถือครองหนังสือเดินทางชั่วคราวนั้น ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานใน อ.แม่สอด ได้เคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่ที่มีการจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทเป็นจำนวนมากเพราะมีค่าจ้างแรงงานที่แพงกว่า และสามารถเคลื่อนย้ายได้ตามความสมัครใจ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สถานประกอบการใน อ.แม่สอด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมประเภทโรงงานการ์เมนท์และสิ่งทอ โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปั้นดินเผา เซรามิค ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาแรงงานขาดแคลน แรงงานข้ามชาติจึงเคลื่อนย้ายไปทำงานในจังหวัดชั้นในแล้วกว่า 20 % คาดการณ์ได้ว่าหายไปจากระบบประมาณ 20,000 คน จาก 50,000 คน เนื่องจากปัจจุบัน อ.แม่สอด มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำมาที่ 226 บาท (ในปี พ.ศ. 2555) และจะมีการปรับค่าแรงขึ้น 300 บาทในปี 2556 ตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้การค้าชายแดน อ.แม่สอด ในปัจจุบันมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความต้องการของตลาดผู้บริโภคในเพื่อนบ้านและตลาดในประเทศมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ออเดอร์ในการผลิตสินค้าต่างๆมีเพิ่มมากขึ้นตาม ในขณะที่ปัจจุบันแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจึงไม่สมดุลต่อดีมานด์และซัพพลายในขณะนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถรับออเดอร์สินค้าต่างๆได้ และกำลังการผลิตโดยรวมต้องถูกลดลงไปกว่า 30% ส่งผลให้ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2555 มูลค่าการผลิตใน อ.แม่สอดจะสูญหายไปไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท หากยังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ถึงกับสนับสนุนภาครัฐในการวางกฎระเบียบการจ้างงานตามแนวชายแดน และจังหวัดชั้นในให้มีความแตกต่างกัน เพื่อป้องกันการเกิดช่องว่างของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยให้ลดน้อยลง ด้วยเช่นกัน
แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเรื่องสภาพการจ้างงานกลับพบว่าการให้ความสำคัญกับพลังการผลิตของแรงงานข้ามชาติของนายทุน นายทุนเองก็มักจะใช้รูปแบบการจ้างงาน “กึ่งบังคับ-กึ่งตัวประกัน” การกุมอำนาจต่อรองเกือบทั้งหมดไว้ในมือของนายจ้าง (ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อ การจ้างงาน “กึ่งบังคับ-กึ่งตัวประกัน”)
รวมถึงพบการจ้างงานแบบรายชิ้นที่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในส่วนต่างๆ ของประเทศ ที่มีความพยายามขจัด “แรงงานประจำ” ออกไปจากระบบ สร้างความยืดหยุ่นในด้านการจ้างงาน นายจ้างสามารถปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
การจ้างงาน “กึ่งบังคับ-กึ่งตัวประกัน”
สำหรับการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย การขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ที่ อ.แม่สอด นายจ้างมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่าแรงงาน สาเหตุเพราะในพื้นที่ อ.แม่สอด ส่วนใหญ่นายจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ในช่วงเริ่มแรก ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่เขตอุตสาหกรรมชั้นใน เนื่องจาก อ.แม่สอด เป็นช่องทางที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานสะดวก ไม่มีเงินติดตัวมาเพียงพอจึงมีความต้องการรับจ้างทำงานหาเงิน เมื่อนายจ้างต้องการแรงงานต่างด้าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ก่อน โดยการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ พบว่านายจ้างรายเดิมไม่ยอมแจ้งแรงงานข้ามชาติออกจากงาน หรือแจ้งแต่ไม่มอบเอกสารให้แก่แรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติขาดหลักฐานเอกสาร แรงงานข้ามชาติหลบหนีจากนายจ้างรายเดิมที่ยังไม่หมดสัญญาจ้างมาขอรับใบอนุญาตกับนายจ้างรายใหม่จึงขาดเอกสาร จึงมักเกิดปัญหาการแย่งแรงงานถูกกฎหมาย และนำไปสู่การยึดเอกสารสำคัญต่างๆ ของแรงงานไว้
และนี่เป็นสาเหตุเบื้องต้นอย่างหนึ่งของปัญหาการจ้างงานแบบ 'กึ่งบังคับ-ตัวประกัน'
ทั้งนี้นายจ้างมักจะอ้างเหตุผลในการยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้เพื่อแลกกับการชดใช้หนี้ที่เกิดจากการที่นายจ้างต้องสำรองจ่ายทั้งค่าจดทะเบียนและค่านายหน้า ทั้งนี้จากการประเมินเมื่อปี 2554 พบว่า ค่าดำเนินการทำหนังสือเดินทางให้คนงาน ค่าทำใบอนุญาตทำงาน และค่าบริการตรวจสุขภาพ แม้ว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายในความเป็นจริงอาจอยู่แค่ 4,500-5,000 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท, ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน 1 ปี 1,800 บาท ค่าทำหนังสือเดินทาง 500-1,000 บาท และค่าธรรมเนียมอื่นๆ) แต่นายหน้าบางแห่งยังอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริการเพิ่มขึ้นไปอีกหัวละ 9,500 บาท
ดังนั้น นายจ้างจึงใช้วิธี จ้างงานแบบ 'กึ่งบังคับ-ตัวประกัน' ยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้เป็นหลักประกันการชดใช้หนี้ของคนงาน และใช้วิธีการต่างๆ ในการขูดรีดแรงงานในระยะยาว เช่น หักค่าแรงเดือนละ 1,200 – 1,500 บาท เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะครบสัญญาจ้าง เป็นต้น
ส่วนแรงงานที่สถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเป็นอิสระจากนายจ้าง เพราะอำนาจต่อรองทั้งหมดแทบที่จะอยู่ในมือนายจ้างหมดแล้ว ซึ่งวิธีการหลบหนี ดูเหมือนจะเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานะถูกกฎหมายใช้เมื่อยามหลังพิงฝา
รวมถึงอุปสรรคเรื่อง "สิทธิการรวมกลุ่ม เพื่อเจราจาต่อรอง" โดยแรงงานข้ามชาตินั้นไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงาน-เข้ากลุ่มสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมายในประเทศไทยได้ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ระบุว่าผู้มีสิทธิตั้งสหภาพ เป็นคณะกรรมการ หรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นจะต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งถึงแม้จะเปิดโอกาสให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ แต่ในพื่นที่ อ.แม่สอด โรงงานแต่ละแห่งโดยเฉพาะฝ่ายผลิต ส่วนใหญ่แล้วล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด.
ข้อมูลประกอบการเขียน:
ข้อมูลลงพื้นที่สำรวจ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2555
ครัวเรือนมือเติบดันสินเชื่อพุ่ง20.4% สศช.หวั่นหนี้เน่าหลอน-ชี้คนไทยความสุขลดลง (ข่าวสด, 27-11-2555)
แม่สอด อ่วมแรงงานต่างด้าวแห่หนี เข้าจังหวัดชั้นในให้ผลตอบแทน 300 บ. (สารหอการค้า, ฉบับที่ 463 ประจำวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2555)
http://www.theccn-news.com/1972-แม่สอด_อ่วมแรงงานต่างด้าวแห่หนี__เข้าจังหวัดชั้นในให้ผลตอบแทน_300_บ..html
"แม่สอด" ความลำบากในอีกรูปแบบหนึ่ง! (วิทยากร บุญเรือง, ประชาไท, 20-1-2550)
แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานจัดระบบแรงงานต่างด้าวภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ชยชาติ ชูพันธ์, วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, 2551)
แรงงานบังคับ กับการยึดหนังสือเดินทางแรงงานข้ามชาติ (นุศรา มีเสน, มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554)
|