ดู ‘แรงเงา’ แล้วมาย้อนดูเรื่อง ‘ค่าแรง’ ของคุณ ‘ผู้หญิง’ ในที่ทำงาน .. ถึงแม้จะมีลักษณะงานและอายุงานที่ไม่ต่างกัน แต่ในสหรัฐอเมริกายังพบสถิติที่ว่าผู้หญิงมักจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย แต่กระนั้นหากจะร้องเรียน กลับเป็นบริษัทนายความที่หยับชิ้นปลามันไปเสีย (และทนายความส่วนใหญ่เป็นผู้ชายด้วยมัง ;-) รวมถึงประเทศพัฒนาอื่นๆ พบว่าช่องว่างค่าแรงหญิงชายยังคงห่างกัน ค่าแรงที่ไม่เท่ากันในสหรัฐอเมริกา
“ฉันไม่ต่างกับภรรยาที่แอบสะสมความกังวลที่เพิ่มขึ้นทุกวันว่า สามีกำลังแอบนอกใจฉัน”นี่ไม่ใช่บทพูดในละครหลังข่าวอย่าง “แรงเงา” ที่กำลังฮ๊อตฮิตในบ้านเราอยู่ขณะนี้ แต่เป็นการเปรียบเปรยของ Lilly Ledbetter ในหนังสือที่ชื่อว่า “Grace and Grit: My Fight for Equal Pay and Fairness at Goodyear and Beyond” (สง่างามและทรหด: การต่อสู้เพื่อค่าแรงที่เสมอภาคและเป็นธรรม ณ กู้ดเยียร์) Ledbetter บันทึกไว้ว่าในช่วงฤดูใยไม้ผลิปี ค.ศ. 1998 ระหว่างเปลี่ยนกะกลางคืน เธอได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมาว่าเธอได้รับค่าจ้างน้อยเกินไปในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานผลิตยาง Goodyear สาขาเมือง Gadsden รัฐอลาบามา โดยข้อมูลนี้เธอได้รับจากจดหมายจากบุคคลนิรนามที่ช่วยเทียบเคียงเงินเดือนของเธอกับพนักงานชายอีกสามคนที่เริ่มงานในปีเดียวกันและมีลักษณะงานเหมือนกัน “หัวใจฉันถูกกระตุก เหมือนกับว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวฉัน” Ledbetter กล่าว ถึงแม้กฎหมายว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างอย่างเสมอภาค (The Equal Pay Act) ที่ประธานาธิบดี Kennedy ได้ลงนามไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 ซึ่งได้ห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในการจ่ายค่าจ้างไว้ แต่ในความเป็นจริงแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานานก็พบว่าข้อห้ามนี้มักจะถูกละเลยจากนายจ้างเสมอ ในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2012 พบว่าผู้หญิงอเมริกันยังคงมีรายเป็นสัดส่วนเพียง 82.2% ของรายได้ที่ผู้ชายได้รับจากการทำงาน เมื่อเทียบจากรายได้เฉลี่ยรายสัปดาห์ แต่ถ้าเทียบเป็นรายได้ตลอดทั้งปีนั้น การสำรวจในปี ค.ศ. 2010 พบว่าพนักงานประจำผู้หญิงมีรายได้เป็นสัดส่วนแค่ 77% ของรายได้ที่พนักงานชายได้รับ
สัดส่วนช่องว่างค่าตอบแทน (เป็น%) ของผู้หญิงต่อผู้ชายในปี ค.ศ. 2010 ของอาชีพต่างๆ ในสหรัฐฯ (ที่มาภาพ: businessweek.com) ช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 40 เซนต์ต่อดอลลาร์ในยุค 1960 และเหลือเพียง 4 เซ็นต์ในยุค 1990 และน้อยกว่า 1 เซ็นต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และถึงแม้ว่าผู้หญิงรุ่นใหม่จะไล่ทันและแซงหน้าผู้ชายไปในเรื่องการศึกษาแล้วก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่เป็นเสมอไปตามนั้น เมื่อ Catherine Hill หัวหน้านักวิจัยจาก American Association of University Women ระบุว่าความห่างของค่าแรงของชายหญิงในหมู่ปัญญาชนที่จบจากมหาวิทยาลัยจะมี 10 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ ในหนึ่งปีหลังจบการศึกษา แต่ถ้าคุณมางานเลี้ยงรุ่นปีที่สิบจะพบว่าช่องว่างนี้ห่างไปถึง 31 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ ประเด็นนี้เราไม่ได้พูดถึงงานที่มีลักษณะเดียวกัน ปัจจัยที่ทำให้ความห่างระหว่างเงินเดือนนั้นมักจะเป็นเรื่องอาชีพที่การไต่เต้าทางหน้าที่การงานต่างกัน นอกจากเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงานแล้ว พบว่าผู้ชายมักจะแข่งขันกันสูงในอาชีพที่มีรายได้สูงเช่นวิศวะกร แต่ผู้หญิงมักจะทำงานในสาขาที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่า เช่น นักการศึกษาและนักสังคมสงเคราะห์ ความหลากหลายในการเลือกสายอาชีพของผู้หญิงลดลงเรื่อยๆ หากเทียบกับผู้ชาย เมื่อเธอต้องลาคลอด หรือเลือกเวลาทำงานให้เหมาะกับการที่จะต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อดูแลลูกๆ แต่สำหรับคุณพ่อก็แทบจะดูว่าไม่เป็นปัญหาใดๆ เลย ถึงแม้จะมีงานวิชาการหลายชิ้นที่ยังไม่สามารถยืนยันว่าเรื่อง ‘เพศ’ จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางรายได้ของผู้หญิง เช่น จากรายงานของ Department of Labor, Consad Research of Pittsburgh ในปี ค.ศ. 2009 พบว่านอกจากช่องว่างค่าแรง 5 – 7 เซ็นต์แล้ว ยังสามารถอธิบายด้วยปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่บางชิ้นก็กล้าระบุไปตรงๆ เช่น บทความในปี ค.ศ. 2007 ของวารสารการบริหารจัดการ 'Perspectives' ของฝ่ายเศรษฐศาสตร์แรงงาน มหาวิทยาลัย Cornell โดย Francine Blau และ Lawrence Kahn ระบุว่าแม้จะปรับรายได้ตามวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ หรือเชื้อชาติ ในตลาดการจ้างงานตามอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม ผู้หญิงก็ยังคงมีสัดส่วนรายได้เพียง 91% เมื่อเทียบสัดส่วนกับผู้ชาย “ถึงแม้มีหลักฐานว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศลดน้อยลงในตลาดแรงงาน แต่การเลือกปฏิบัติบางอย่างยังคงดำรงอยู่” Blau และ Kahn ระบุ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของผู้หญิงมีมากกว่าแค่จะถูกจ้างงานเป็นลูกจ้างธรรมดาๆ ในสหรัฐมีผู้หญิงเพียง 3% ที่ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทที่มีการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune 500 อันดับ ในปี ค.ศ. 2009 ว่ามีบริษัทเพียง 38 แห่ง จาก 400 แห่ง ที่บริหารงานโดยผู้หญิง
การเปิดเผยข้อมูลและอุปสรรคในการใช้กลไกกฎหมาย ย้อนกลับไปที่เรื่องของ Lilly Ledbetter เธอใช้กลไกกฎหมายในการฟ้องร้อง และการที่จะชนะคดีต่างหากที่เป็นปัญหา คณะลูกขุนเพียงแต่ชี้ว่า “แนวโน้มที่เป็นไปได้อย่างมาก” ว่าเธอถูกเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าตอบแทนจากการทำงาน แต่ศาลฎีกาปฎิเสธคำร้องของเธอเพราะเธอไม่ได้ร้องเรียนภายใน 180 วันนับจากวันแรกที่เธอได้รับค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป ถึงแม้ชื่อของเธอจะได้รับเกียรติให้ใช้เป็นชื่อกฎหมายการฟื้นฟูการตอบแทนค่าแรง 'The Lilly Ledbetter Fair Pay Restoration Act' ซึ่งประธานาธิบดี Obama ได้ลงนามเป็นฉบับแรกเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งในสมัยแรกเมื่อ ค.ศ. 2009 มีการกำหนดวิธีพิจารณาคดีการจ่ายค่าแรงน้อยเกินกว่าที่จะเป็น ให้เป็นการกระทำที่มีโทษเหมือนพึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่มีผู้ร้องทุกข์ในอนาคต แต่ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ ผู้หญิงคนอื่นๆ อาจจะไม่โชคดีที่มีบุคคลนิรนามส่งโพยเปรียบเทียบเงินเดือนแบบที่ Ledbetter ได้รับ เพราะหากไม่มีข้อมูลแบบนั้น ผู้หญิงก็จะไม่รู้ว่าเงินเดือนของเธอเท่ากับผู้ชายคนอื่นๆ ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน อายุงานเหมือนๆ กันได้ ซึ่งการขาดข้อมูลที่โปร่งใสในที่ทำงานก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับความเสมอภาคในที่ทำงาน ถึงแม้ 'The Lilly Ledbetter Fair Pay Restoration Act' จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรในปี ค.ศ. 2009 จะเอื้อให้บริษัทแก้ไขเรื่องข้อบกพร่องในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยป้องกันไม่ให้บริษัทคุกคามหรือตอบโต้พนักงานที่สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความห่างของค่าตอบแทนพนักงานในสถานประกอบการ และยังเรียกร้องให้บริษัทส่งข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างเพื่อการตรวจสอบว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ – แต่ในทางปฎิบัติสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะต้องใช้กลไกในการร้องสิทธิพอสมควร โดยเฉพาะการผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ในการอภิปรายเพื่อยืดเวลาการลงมติรับร่างกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009 วุฒิสมาชิก Marco Rubio จากพรรค Republican ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางที่จะบรรลุผล “สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเพียงโครงการสวิสดิการสำหรับทนายความเท่านั้น” Rubio กล่าว
สถานการณ์โลก เมื่อวันสตรีสากลในปี ค.ศ. 2010 Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ได้ออกรายงาน Gender Brief ซึ่งได้ระบุถึงความไม่เท่าเทียมเรื่องรายได้ระหว่างชายกับหญิงไว้อย่างน่าสนใจ โดยในรายงานระบุว่าแม้กระทั่งในประเทศที่ร่ำรวย ผู้หญิงก็ยังถูกกดค่าแรงให้น้อยกว่าผู้ชาย (โดยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 1 ใน 5) ในขณะที่ผู้หญิงต้องมีหน้าที่ในการดูแลครอบครัว นอกเหนือจากการการทำงานนอกบ้าน ทั้งนี้นายจ้างมักเห็นว่าการที่ผู้หญิงต้องหยุดงานประท้วง หรือเอาเวลาที่ควรมาทุ่มเทให้กิจการไปดูแลครอบครัว เป็นอุปสรรคในการเพิ่มค่าแรง หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ จากการปฏิบัติงาน รวมทั้งนายจ้างมักที่จะไม่เปิดโอกาสผู้หญิงในการพัฒนาศักยภาพของตนเองสักเท่าไรนัก ผู้หญิงในเกือบทุกประเทศในการสำรวจของ OECD พบว่าพวกเธอมักจะมีภาระในการดูแลเด็กๆ และครอบครัวมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ทำให้ผู้หญิงไม่อาจขยายเวลาทำงานมากกว่าเดิมได้ นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า 25% ของผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน ต้องปฏิเสธโอกาสในการทำงานพิเศษนอกเวลา เพื่อกลับหน้าที่ดูแลครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมีตัวเลขเพียง 6% เท่านั้น ในรายงานของ OECD ระบุว่าช่องว่างระหว่างค่าแรงเห็นได้ชัดในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ผู้ชายจะได้ค่าแรงมากกว่าผู้หญิงประมาณ 30% ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ช่องว่างระหว่างค่าแรงชายหญิงห่างกันอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ เยอรมัน แคนาดา และอังกฤษ ซึ่งมีตัวเลขความแตกต่างห่างกัน 20% จากค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ระบุไว้ไม่เกิน 17.6% ในขณะที่เบลเยี่ยมและนิวซีแลนด์ เป็น 2 ประเทศที่มีความต่างระหว่างค่าแรงชาย-หญิง น้อยกว่า 10% มาดูกรณีศึกษาความพยายามลดช่องว่างนี้ของประเทศนิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์เองก็ไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างของเงินเดือนนั้น ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในปี ค.ศ. 2002 นายกรัฐมนตรีหญิงเฮเลน คล็าก (Helen Clark) ได้จัดตั้ง Pay and Employment Equity Unit (PEEU) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงแรงงาน เพื่อดูแลความเท่าเทียมกันในเรื่องของการจ่ายเงินและการจ้างงานในหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทั้งนี้ PEEU สำรวจทั้งหมด 38 หน่วยงานหลักๆ ของภาครัฐ พบว่ามี 21 หน่วยงานด้วยกันที่ผู้หญิงและผู้ชายในระดับคอปกขาวทำงานเหมือนกัน แต่ได้ค่าจ้างต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของรายได้นั้นมีตั้งแต่ 3% ไปจนถึง 35% เมื่อเริ่มต้นทำงานผู้หญิงจะได้เงินเดือนน้อยกว่า ผู้ชาย และช่องว่างของเงินเดือนนี้จะยิ่งขยายออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดเมื่อทำงานในระดับอาวุโส จากข้อมูลของ PEEU พบว่าปัญหาความแตกต่างของเงินเดือนยังคงมีมากอยู่ในนิวซีแลนด์ และไม่มีทีท่าว่า PEEU จะทำให้ช่องว่างนี้ลดลงได้ ในปี ค.ศ.2008 สำนักงานสถิติแห่งชาติของนิวซีแลนด์ได้ออกมายืนยันว่า ผู้หญิงจะได้ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยขั้นต่ำต่อหนึ่งอาทิตย์ประมาณ 354 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ขณะที่ผู้ชายจะได้อยู่ที่ประมาณ 562 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ซึ่งรายได้นี้มีความแตกต่างกันอยู่ถึง 37.1% จากการเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) John Key ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ได้ประกาศยุบหน่วยงาน PEEU เนื่องจากเห็นว่าความต่างของรายได้มีมากขึ้นกว่าตอนที่จะมีการก่อตั้ง PEEU ขึ้นมาเสียอีก
บทส่งท้าย สำหรับประเทศไทยนั้นถึงแม้ดูเหมือนว่า ‘ผู้หญิง’ ได้รับโอกาสมากขึ้น ตามวิถีของสังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา โดยจากข้อมูลของธนาคารโลกปี ค.ศ. 2012 พบว่าสัดส่วนผู้หญิงเทียบกับผู้ชายในทุกระดับการศึกษา มีมากกว่าผู้ชายตั้งแต่ 9-24 % ซึ่งนับเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงการไต่เต้าขึ้นไปสู่ระดับผู้บริหารที่หญิงไทยมีสัดส่วนประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลก จากการสำรวจของ Grant Thornton เมื่อปี ค.ศ. 2011 พบว่าผู้หญิงไทยติดอันดับหนึ่งในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก หรือคิดเป็น 45% โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารด้านการเงิน แต่สำหรับแรงงานระดับกลางลงไป นอกเหนือจากเรื่องล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานแล้ว ก็ยังพบปัญหาเรื่องรายได้ในที่ทำงานที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายด้วยเหมือนกัน โดยในกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม (ที่มีสัดส่วนแรงงานหญิงสูงถึง 70 %) กลับพบว่าค่าแรงเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายแม้ในลักษณะงานเดียวกัน … ถึงเวลาบรรจุเรื่องมันส์ๆ เหล่านี้ไว้ในบทละครรึยังครับ ผู้จัดละครหลังข่าวทั้งหลาย ;p
ประกอบการเขียน: Gender Brief (oecd.org, March 2010) Shortchanged: Why Women Get Paid Less Than Men (businessweek.com, 21-6-2012) ผลสำรวจหญิงไทยครองแชมป์ ผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก (ไทยโพสต์, 9-3-2011) เวิล์ดแบงก์แนะเพิ่มค่าแรงหญิงเท่าชาย (ครอบครัวข่าว, 18-6-2012) หนังสือ “ผู้หญิง การทำงาน การเมือง สังคมและวัฒนธรรม” (โครงการณรงค์เพื่อแรงงานไทย, ธันวาคม 2553) |