ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของวิกฤติเศรษฐกิจ “แฮมเบอเกอร์” เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ได้นำเสนอสารคดี “ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร” การดำเนินชีวิตของคนงานที่ตกงาน เนื่องจากนายจ้างปิดงานเฉพาะส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานแคนาดอล ประเทศไทย ในประเด็นปัญหาข้อพิพาทแรงงานและนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยที่ฝ่ายนายจ้างเป็นผู้กระทำต่อลูกจ้างผู้ซึ่งขาดอำนาจในการเจรจาหรือต่อรองใดๆ มีสิ่งหนึ่งในสารคดีที่เป็นสาระที่สำคัญแต่กลับถูกละเลยหรือขาดหายไปและมีการพูดถึงน้อยมาก คือ “ต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น” เจตนาในการละเมิดกฎหมายโดยนายจ้างซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงประเภทหนึ่ง และการเพิกเฉยในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้นายจ้างกระทำความรุนแรงต่อลูกจ้างเช่นเดียวกัน วันนี้มีการพูดถึงเรื่องของจรรยาบรรณสื่อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่าสื่อได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักมักตกเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่กุมอำนาจไว้ในมือปัญหาของเพื่อนผู้ใช้แรงงานในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน สื่อได้สร้างความชอบธรรมในการเลิกจ้างให้กับนายจ้างเป็นจำนวนมาก โดยมีการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อกระแสหลักตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีและจะมีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นลูกจ้างในแต่ละสถานประกอบการจะรู้ดีว่าสถานะของสถานประกอบการณ์ที่ตนเองทำงานอยู่เป็นอย่างไร จำเป็นที่จะต้องมีการเลิกจ้างหรือยัง หรือยังมีมาตรการอื่นหรือไม่ในการที่จะเป็นการบรรเทาปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในสถานประกอบการหลายแห่งสหภาพแรงงานได้พยายามเสนอแนวทางที่เป็นทางออกให้กับฝ่ายบริหารโดยพยายามให้ต้นทุนในการผลิตลดลงแต่กระทบกับลูกจ้างน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง แต่มีนายจ้างเป็นจำนวนมากเลือกที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลเร็วที่สุด จะเลิกจ้างลูกจ้างเป็นร้อยหรือเป็นพันก็ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะประณามว่าเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานเพราะสื่อกระแสหลักได้ประโคมข่าวไว้ให้ล่วงหน้าแล้วว่าเศรษฐกิจไม่ดี หลังจากนั้นสื่อกระแสหลักได้พยายามนำเสนอภาพของความยากลำบาก และความทุกข์เข็ญของคนงานหลังจากถูกเลิกจ้างว่าเป็นอย่างไร มีการนำเสนอออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หลายคนดูแล้วบอกว่าน่าสงสาร บางคนบอกว่าเป็นเพราะโชคชะตา แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามย้อนกลับไปว่านายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้างเหล่านั้นเขาขาดทุนจริงหรือไม่ ไม่เคยมีขบวนการตรวจสอบจากภาครัฐหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อตรวจสอบหาความจริงว่านายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้างเหล่านั้นมีผลประกอบการเป็นอย่างไร และไม่เคยมีใครสอบถามว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิ์ของตนเองตามกฎหมายหรือไม่ วันนี้เรารับข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวจากฝ่ายนายจ้างว่ากำลังลำบาก แต่ขณะที่หลายคนบอกว่านายจ้างลำบากเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจนั้นในความเป็นจริงเขายังนอนห้องแอร์ของคฤหาสน์หรูราคาหลายล้าน นั่งรถเก๋งราคาแพงมีคนขับรถให้ วันสุดสัปดาห์มีนัดตีกอล์ฟและจิบไวน์ราคาแพงกับสมาชิกในชมรมผู้บริหาร และมีผู้บริหารอีกจำนวนมากยังนั่งรถประจำตำแหน่งมาทำงานพร้อมกับเลขาส่วนตัว และเงินค่าตำแหน่งของผู้บริหารเหล่านี้สูงกว่าค่าจ้างของพนักงานที่ต้องทำงานทั้งเดือน วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ลูกจ้างจำนวนมากถูกเลิกจ้างไม่เลือกหน้า ในจำนวนผู้ที่ถูกเลิกจ้างนั้น หลายคนถูกเลิกจ้างระหว่างที่หยุดงานตามคั่งแพทย์เนื่องจากเจ็บป่วยหรือเป็นโรคจากการทำงานให้กับนายจ้าง หลายคนอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามเลิกจ้างแรงงานหญิงเนื่องจากเหตุมีครรภ์ หรือแรงงานหญิงหลายคนถูกเลิกจ้างระหว่างการลาคลอดตามกฎหมาย และมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแต่อย่างใด เขาเหล่านั้นต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ท่ามกลางค่านิยมของสังคมที่นับถือเงินเป็นพระเจ้า วันนี้นายจ้างกล้าที่จะท้าทายกฎหมายแม้กระทั่งเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งในกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้นระบุไว้ชัดเจนว่า “เมื่อมีการการแจ้งข้อเรียกร้องฯ ถ้าข้อเรียกร้องนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดพิพาทแรงงานห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานฯ” ถ้ามีการฝ่าฝืนมีบทกำหนดโทษ “จำคุกหกเดือนหรือปรับไม่เกินหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นั่นคือบทบัญญัติตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงวันนี้นายจ้างกำลังฉกฉวยโอกาสจากวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อทำลายองค์กรของคนงาน สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง แกนนำสหภาพแรงงานถูกกีดกันออกจากบริษัทฯ ให้อยู่นอกโรงงานโดยได้รับค่าจ้างปกติ หรือพยายามยัดเยียดข้อหาให้อย่างไม่เป็นธรรม การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกล่างวิกฤติเศรษฐกิจที่คุกรุ่น มันคือความรุนแรงที่นายจ้างเป็นผู้กระทำต่อลูกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยที่เขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสแม้แต่จะปกป้องตัวเอง “กรรมกรเอ๋ยกรรมกรค่ำแล้วจะนอนหนไหนโรงงานเลิกจ้างทำอย่างไรหรือใครยังพอมีหนทางเรียกร้องค่าแรงก็เท่านั้นซ้ำถูกจับห้ำหั่นให้บาดหมางแยกสลายพลังขังตารางหรือทุกอย่างทุนนิยมข่มขืนเรา” |