Thai / English

ในเดือนกันยายน 2005 (พ.ศ. 2548) เมื่อโรงงาน Electrolux ในเมืองกรีนวิลล์ (Greenville) มิชิแกน (Michigan) สหรัฐอเมริกา ถูกปิดตัวลง คนงาน 2,700 คนต้องกลายเป็นคนตกงาน ที่ไม่รู้อนาคตตัวเอง[i]

 

นักการเมืองท้องถิ่นทำได้เพียงก้มหน้ารับ “ภาวะจำยอม” เมื่ออ้างคำพูดของ Electrolux ที่ว่าโรงงานจ่ายคนงานในเม็กซิโกเพียง $2 ต่อชั่วโมงเท่านั้น เมื่อเทียบกับ $13$-$15ต่อชั่วโมงสำหรับคนงานกรีนวิลล์[ii]

การปิดโรงงานลงในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังกับคนงาน หลายต่อหลายครั้งยังก่อให้เกิดการต่อต้านจากชุมชน  ในปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ. 2547)  เมื่อชุมชนได้รับทราบข่าวว่า Electrolux จะย้ายฐานการผลิตจากกรีนวิลล์  จิม ริงค์ (Jim Rinck) กรรมการคนหนึ่งของโรงเรียนในท้องถิ่นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรงเรียนให้ปฏิเสธการเสนอประมูลจัดซื้อวัสดุจาก Electrolux ของโรงเรียน[iii]

จิมให้สัมภาษณ์กับ Grand Rapids หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า “บริษัทจำนวนมากกำลังจัดจ้างคนงานภายนอก แต่การกระทำของ Electrolux เผยให้เห็นว่า (บริษัท) เป็นแค่พวกคนชั้นต่ำที่โลภมากกลุ่มหนึ่ง” เขากล่าวเสริม “พวกเราต้องยืนขึ้นร่วมกันคน (งาน) กรีนวิลล์และสนับสนุนพวกเขา”

ข้อเสนอของเขาได้รับการตอบรับอย่างดีจากที่ประชุม หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่บริหารของโรงเรียนทำได้เพียงซื้ออะไหล่เพื่อทดแทนเครื่องใช้ที่มีอยู่เดิม ในกรณีที่อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องการมีเพียง Electrolux เท่านั้นที่ผลิต กรรมการโรงเรียนจะลงมติเกี่ยวกับการจัดซื้อเป็นเรื่องๆ

ในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2555) โรงเรียนดังกล่าวได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 48 โรงเรียนจากทั่วสหรัฐ เพื่อรับเงินทุน $100,000 จากห้าง Target ผ่านทางรายการ   The Ellen DeGeneres Show หลังจากผู้บริหารส่งเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนในกรณีการปิดตัวของ Electrolux เข้าไปในรายการ[iv] อันที่จริง เงินก้อนดังกล่าวเป็นรางวัลปลอบใจที่ไม่น้อย สำหรับความกล้าหาญของโรงเรียนเล็กๆ ที่พยายามแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความละโมภของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่าง Electrolux  

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นกับชาวกรีนวิลล์ และต้นทุนในรูปตัวเงินที่ Electrolux สามารถประหยัดลงไป โดยการย้ายฐานการผลิตแล้ว เงินก้อนดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าน้อยนิด

ในระหว่างปี 2002 -2005 (พ.ศ. 2545 – 2548) นักวิชาการ 2 คนจากมหาวิทยาลัย Western Australia คือ Rob Lambert และ Michael Gillan ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในเมืองออเรนจ์ (Orange) นิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนหลังจาก Electrolux เข้าซื้อโรงงานผลิตตู้เย็นในเมืองออเรนจ์ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 65 ปีและมีการจ้างงานคนในชุมชนถึง 1,800 ตำแหน่ง[v]

ในบทความวิชาการของทั้งสองคน พวกเขาได้วิเคราะห์ถึงกลยุทธ์ทางด้านภูมิศาสตร์ที่ Electrolux ใช้ในการหาประโยชน์จากค่าแรงถูกในภูมิภาคต่างๆ  และแนวโน้มระยะยาวของการย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ และยุโรป หรือประเทศชั้นในเช่น สวีเดน อิตาลี เยอรมัน ไปยังประเทศชั้นนอก คือ เม็กซิโก โรมาเนีย ฮังการี รวมทั้งจีนและไทย ตามลำดับ

ผลิตภาพส่วนเกินจากการผลิตในประเทศอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 1970s  เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ ขยายตลาดรวมทั้งฐานการผลิตออกไปในเอเชียและลาตินอเมริกา โดยมี General Electric Appliance เป็นต้นแบบในการนำกลยุทธ์ด้านภูมิศาสตร์มาใช้ในสเกลระดับโลก

ทั้งนี้ การศึกษาของนักวิชาการทั้งสองเปิดเผยให้เห็นว่า  Electrolux เป็นผู้นำในการนำกลยุทธ์ของการปิดโรงงาน (รวมทั้งข่มขู่ว่าจะปิดโรงงาน) และการลดขนาดโรงงานมาใช้ในการเพิ่มอัตรากำไรของบริษัท โดยแนวโน้มนี้ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ช่วงปี 1997-98 (พ.ศ. 2540-41)  และปรากฎให้เห็นชัดเจนหลังปี 2002 (พ.ศ. 2545)

วิธีการที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของ Electrolux ก็คือ การกดดันให้สหภาพแรงงานยอมต่อรองข้อตกลงในสัญญาการจ้างในระยะสั้น เช่น เป็นรายปี เพื่อให้บริษัทนำเรื่องการปิดโรงงานมาใช้เป็นข้ออ้างในการบังคับใช้เงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ขณะเดียวกัน บริษัทจะทำการลดขนาดโรงงานลงเรื่อยๆ เพื่อขยับขยายโอกาสในการแสวงหาแหล่งที่ตั้งใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่า นอกจากนี้ Electrolux  ยังมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายจากประเทศที่มีค่าแรงสูงและสหภาพแรงงานเข้มแข็ง ไปยังประเทศที่ค่าแรงถูก รวมทั้งสหภาพแรงงานยังไม่เกิดขึ้นหรือไม่เข้มแข็งนัก

นอกจากนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนในออสเตรเลียดังกล่าว คือ กลยุทธ์ของ Electrolux มีส่วนทำลายความรู้สึกผูกพันกับสถานที่ (place) ของคนงาน ในระดับบุคคล ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความรู้สึกความปลอดภัยในทางเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองของคนงาน ส่วนในแง่ของชนชั้นนั้น ยังทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกันและจิตสำนึกร่วมกันของคนงาน เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งคนงานในระยะยาว

ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ คนงานอิเล็คโทรลักซ์กว่าร้อยชีวิตที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมโดย Electrolux Thailand ใน จ. ระยอง ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยังคงรอคอยคำตอบจากบริษัทที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถึงแม้ข่าวล่าสุด (28 มีนาคม)  ว่าบริษัทจะรับคนงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน แต่เมื่อคนงานเดินทางไปยังโรงงานด้วยตนเอง ฝ่ายบริหารกลับปฏิเสธข่าวดังกล่าวนั้น อาจกลายเป็นเพียงการซื้อเวลาให้นายจ้างได้มองหาทำเลใหม่สำหรับโรงงานแห่งต่อไป[vi]




References

[i] Julia Bauer / The Grand,Rapids Press. (2005, Sep 03). The big goodbye ; 829 electrolux workers walk out of plant in first wave of layoffs. The Grand Rapids Press, pp. 0-B.1.

[ii] Bailey, R. L. (2004, Mar 06). Manufacturing workers' rally fights job flight. Knight Ridder Tribune Business News, pp. 1-1.

[iii] Dave Murray / The Grand,Rapids Press. (2004, Feb 02). Boycott proposal gets cool reception ; grand rapids school board member jim rinck suggests shunning electrolux products. The Grand Rapids Press, pp. 0-D3.

[iv] http://www.mlive.com/news/grand-rapids/index.ssf/2012/01/west_michigan_principal_says_b.html

[v] Lambert, R., & Gillan, M. (2007). "Spaces of hope"? fatalism, trade unionism, and the uneven geography of capital in white goods manufacturing. Economic Geography, 83(1), 75-95.

[vi]อ่านข่าว Electrolux สนใจลงทุนในฟิลิปปินส์ได้ที่ "Swedish firms keen to invest in the Philippines." BusinessWorld. (March 5, 2013 Tuesday ): 238 words.